fbpx
9/2-3 ซอย 9 ถ.ศิริมังคลาจารย์ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50200

ขูดหินปูน

ขูดหินปูน

คราบจุลินทรีย์ และ หินปูนเกิดขึ้นได้อย่างไร 
แผ่นคราบจุลินทรีย์ หรือ Bacterial plaque คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่ม ที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน แม้ว่าจะบ้วนน้ำ ก็ไม่สามารถหลุดออกได้ ขบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง 2-3 นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มากในปากจะมาเกาะทับถมกันเข้าเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ คราบจุลินทรีย์นี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปคราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ โดยกรดจะทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันผุ สารพิษจะทำให้เหงือกอักเสบทำให้เกิดโรคปริทันต์ ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้น และทำอันตรายต่อฟันและเหงือกหินปูนหรือหินน้ำลายคือแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัวเนื่องจากมีธาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอนนั่นเอง

ความจำเป็นในการขูดหินปูน

บนพื้นผิวของหินปูนจะมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุม หินน้ำลายที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองไม่เห็น คราบจุลินทรีย์ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือกไม่สามารถกำจัดออกได้โดยวิธีการทำความสะอาดฟันด้วยตัวเอง ต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยกำจัดหินปูนให้ ทันตแพทย์จะขูดหินปูนออกทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก จากนั้นจึงทำรากฟันให้เรียบ (root planning) และทำให้ปราศจากสารพิษใดๆ เพื่อให้เหงือกยึดแน่นรอบตัวฟันเหมือนเดิม 

ใช้เวลาเท่าไหร่ในการขูดหินปูน

การขูดหินปูนให้หมดจริงๆอาจต้องใช้เวลาพอควร อาจต้องนัดครั้งละ 30-45 นาที เป็นเวลา 2-4 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นกับความมากน้อยของหินปูน ความลึกของร่องลึกปริทันต์ ความแข็งของหินปูน เป็นต้น หลังจากนั้นประมาณ 4-6 อาทิตย์ ทันตแพทย์จะประเมินผลดูว่าผู้ป่วยหายจากโรคปริทันต์หรือไม่ โดยดูลักษณะเหงือกว่ากลับสู่สภาพปกติ ไม่มีเลือดออกเวลาแปรงฟัน และเมื่อใช้เครื่องมือวัดร่องลึกปริทันต์ ร่องนั้นควรจะตื้นขึ้นหรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ถ้ายังมีความลึกของร่องลึกปริทันต์อยู่ทันตแพทย์จะพิจารณาว่า ควรจะทำการผ่าตัดหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการร่วมมือของผู้ป่วยในการทำความสะอาดด้วย แม้ว่าเหงือกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยละเลย ไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นโรคปริทันต์ได้อีก

 

ความถี่ของการขูดหินปูน

การขูดหินปูนสามารถทำได้ทุกวัย แม้กระทั่งในวัยเด็กที่มีฟันน้ำนมขึ้นแล้วไปจนกระทั่งผู้สูงอายุ ในระยะแรกๆหลังการขูดหินปูน ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาดภายใน 2-3 เดือน จากนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้ดี ไม่มีเหงือกอักเสบหรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูนภายใน 5-6 เดือน โดยทุกครั้ง จะดูความร่วมมือของผู้ป่วย และอาจทบทวนวิธีการทำความสะอาด ฟันและเหงือกด้วย 

 

การขูดหินปูนบ่อยๆจะมีผลกระทบต่อฟันหรือไม่
ในบางครั้ง จะทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้บ้างภายหลังการขูดหินปูน และอาจมีการเจ็บเหงือกบ้างบางครั้ง แต่การดูแลรักษาความสะอาดที่ถูกต้องจะทำให้อาการดังกล่าวหายไป

 

ถ้าไม่ขูดหินปูนจะเกิดผลเสียอย่างไร

1. เลือดออกขณะแปรงฟัน

2. เหงือกบวมแดง

3. มีกลิ่นปาก

4. เหงือกร่น

5. มีหนองออกจากร่องเหงือก

6. ฟันโยก

7. ฟันเคลื่อนออกจากกัน

ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือดหยุดยาก จะสามารถขูดหินปูนได้หรือไม่

ผู้ป่วยที่มีเลือดหยุดยากควรจะมีการปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ปรึกษา และวางแผนการรักษาร่วมกับทันตแพทย์ โดยอาจจะต้องหยุดยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้า หรือในกรณีที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด อาจต้องให้เลือดหรือสารทดแทนก่อนขูดหินปูนเพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อน หรือเลือดไหลไม่หยุด

การป้องกันการเกิดคราบหินปูน

ประกอบด้วยการทำความสะอาดฟัน นั่นคือการแปรงฟันให้ถูกวิธี การทำความสะอาดซอกฟัน รวมทั้งการนวดเหงือกซึ่งมีหลายวิธี เช่นการใช้เส้นใยขัดฟัน (flossing) ปุ่มนวดเหงือก (rubber tip) แปรงระหว่างซอกฟัน (proxmal brush) ผ้าก็อซ (gauze strip) ไม้กระตุ้นเหงือก การที่จะเลือกใช้อุปกรณ์ตัวใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและคำแนะนำของทันตแพทย์ 

ที่มาข้อมูล: Siriraj E-Public Library 

อัตราการขูดหินปูน

฿800-1,000 /ครั้ง